27 สิงหาคม, 2552

ภาวะซึมเศร้า: โรคร้ายหรือการปรับตัว

ภาวะซึมเศร้า (depression) เป็นปัญหาร้ายแรงสำหรับคนบางคน จิตแพทย์และนักจิตวิทยามองมันว่าเป็นภาวะที่ส่งผลร้าย แน่นอนว่าภาวะซึมเศร้าสำหรับบางคนอาจทำให้เบื่ออาหาร แยกตัวออกจากสังคม อารมณ์ทางเพศเสื่อมถอย ไม่มีสมาธิและไม่สามารถจดจ่อต่อเนื่องในหน้าที่การงานและวิถีชีวิตตามปกติ และบางคนก็รุนแรงจนถึงขั้นต้องจบชีวิตลงด้วยน้ำมือตนเอง คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญภาวะซึมเศร้าและความผิดปกติที่เกิดจากภาวะซึมเศร้าสักครั้งหนึ่งในชีวิต ถ้าภาวะซึมเศร้าเป็นภาวะที่ส่งผลร้ายตามที่กล่ามาข้างต้น การคัดเลือกตามธรรมชาติก็ควรจะทำให้สมองเราทนทานต่อภาวะนี้ได้ แต่เหตุไฉนรูปการณ์กลับตรงกันข้าม?

หรือภาวะซึมเศร้าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากเรามีอายุมากขึ้น? - ก็ไม่น่าจริง เพราะทั้งเด็กทั้งวัยรุ่นต่างมีประสบการณ์ต่อภาวะนี้ทั้งสิ้น

หรือภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นเพราะความศิวิไลซ์? - ก็ไม่น่าใช่อีก เพราะจากการศึกษาชนเผ่าพื้นเมืองในปารากวัยและแอฟริกาใต้ ซึ่งอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมดั้งเดิมที่บรรพบุรุษเราวิวัฒนาการกันมา ก็พบว่ายังคงประสบกับภาวะนี้

หรือภาวะซึมเศร้าอาจไม่ใ้ช่ภาวะที่ไร้ประโยชน์ แต่กลับมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต?

นักวิจัยประสาทศาสตร์ระดับโมเลกุลได้ศึกษาหน้าที่ของโปรตีน 5HT1a ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวรับสัญญาณในรูปแบบของสารเคมีในสมองที่ชื่อเซโรโทนิน พบว่าหนูทดลองที่ไม่มีโปรตีนนี้ในสมองตอบสนองต่อความเครียดน้อยลง ซึ่งจะออกมาในรูปแบบของอาการซึมเศร้าที่ลดลงนั่นเอง และเมื่อได้เปรียบเทียบส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้โปรตีนนี้ทำงานได้ระหว่างหนูทดลองกับมนุษย์ พบว่ามีความเหมือนกัน ๙๙% แสดงให้เห็นว่า ธรรมชาติได้คัดเลือกให้โปรตีนนี้ยังคงทำหน้าที่ในการกระตุ้นภาวะซึมเศร้า

แล้วประโยชน์ของภาวะซึมเศร้าล่ะ? แน่นอนว่าคนที่มีภาวะซึมเศร้าจะเคร่งเครียดและคิดจดจ่ออยู่แค่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรืออาจเรียกได้ว่าการ "หมักบ่ม" (rumination - รากศัพท์เดียวกับคำว่า ruminant ที่หมายถึง "สัตว์เคี้ยงเอื้อง" ซึ่งจะได้สารอาหารที่ต้องการจากการมหักบ่มอาหารในกระเพาะ) นักวิจัยหลายคณะยังพบว่า ภาวะซึมเศร้าส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของสมอง โดยในช่วงของการวิเคราัะห์ ปัญหาที่ซับซ้อนจะถูกแยกย่อยออกเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ แล้วค่อยๆ ถูกนำมาพิจารณาทีละชิ้นๆ ซึ่งแน่นอนว่ามีประสิทธิภาพ และให้ผลที่น่าพึงใจมากกว่าการตัดสินใจอย่างลวกๆ คำอธิบายนี้ถูกยืนยันด้วยคะแนนของแบบทดสอบอัจฉริยะภาพของบุคคลสองกลุ่ม พบว่า กลุ่มบุคคลที่มีภาวะซึมเศร้าระหว่างทำแบบทดสอบจะได้คะแนนดีกว่าในข้อที่มีความซับซ้อน

เราทุกคนต่างรู้ดีว่า ตอนลงมือทำข้อสอบที่ยากๆ เราต้องใช้สมาธิมากขนาดไหน และการไม่ถูกรบกวนก็เป็นสิ่งจำเป็น

จากการศึกษาพบว่า เซลล์ประสาทในสมองส่วนที่มีชื่อว่า Ventrolateral prefrontal cortex (VLPFC) จะต้องถูกกระตุ้น และเกิดศักย์กิริยา (action potential - คำไทยคำนี้ ถ้าไม่ีมีภาษาอังกฤษกำกับ เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยไม่มีใครรู้ว่ามันหมายถึง action potential) ตลอดเวลา ซึ่งต้องใช้พลังงานมาก เหมือนรถยนต์เวลาเร่งเครื่องที่กินน้ำมันมากกว่าปกติ ซึ่งถ้าพลังงานไม่เพียงพอก็จะเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายได้ จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า โปรตีน 5HT1a หลังจากที่ได้รับการกระตุ้นจากเซโรโทนินแล้ว มันจะทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวป้อนเชื้อเพลิง ทำให้เซลล์ประสาทใน VLPFC ทำงานได้ตามปกติ และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมโปรตีน 5HT1a จึงสำคัญและถูกอนุรักษ์ไว้ในสายวิวัฒนาการ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกๆ อย่างก็ดูจะเข้าเค้า อาการที่เกิดจากภาวะซึมเศร้าแท้จริงแล้วช่วยให้เราไม่ถูกรบกวนได้โดยง่าย การแยกตัวออกมาจากสังคมทำให้เราได้มีโอกาสคิดวิเคราัห์ปัญหาคนเดียวเงียบๆ ในขณะที่คนรอบข้างกำลังให้ความสนใจในเืรื่องอื่น การเบื่ออาหารทำให้เราไม่ได้เคี้ยวและใช้ปากมากนัก ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่าการเคี้ยวจะไปรบกวนกระบวนการการคิดของสมอง หรือแม้กระทั่งการด้อยสมรรถภาพทางเพศในช่วงที่ซึมเศร้า ก็ทำให้บุคคลผู้นั้นไม่ถูกเบี่ยงเบนไปจากปัญหาที่กำลังวิเคราะห์อยู่


แล้วภาวะซึมเศร้าช่วยทำให้คิดวิเคราะห์ปัญหาได้จริงๆ หรือ? ถ้าภาวะซึมเศร้าส่งผลไม่ดีต่อการแก้ปัญหาจริง กิจกรรมที่ส่งเสริมการหมักบ่ม อย่างเช่นการให้เขียนแสดงความคิดความรู้สึกในช่วงนั้นๆ ออกมา น่าจะทำให้้เราคิดวิเคราัะห์ปัญหาได้ช้าลงกว่าเดิม แต่จากการศึกษาหลายๆ ชิ้นให้ผลตรงกันข้าม การเขียนระบายความรู้สึกออกมาทำให้แก้ปัญหาได้ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะคนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าจะเข้าถึงปัญหาได้มากกว่า หลักฐานอีกกลุ่มแสดงให้เห็นว่า ภาวะซึมเศร้าช่วยทำให้เราแก้ปัญหาทางสังคมที่ตัดสินใจลำบากได้ เช่นภรรยาที่มีลูกกับสามีแล้วไปพบว่าสามีมีชู้ จะทำอย่างไรระหว่างแกล้งทำเป็นไม่สนใจ หรือบังคับให้สามีเลือกระหว่างเธอกับชู้ (ซึ่งแน่นอน...เสี่ยงต่อการถูกทิ้ง) การทดลองบ่งชี้ว่า บุคคลที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าเมื่อเจอปัญหาเช่นนี้จะวิเคราัะห์ปัญหาได้ดีกว่า เพราะจะคำนึงถึงผลดีผลเสียจากตัวเลือกที่มีอยู่ มากกว่าจะตัดสินใจด้วยอารมณ์ชั่ววูบ

เมื่อผลสรุปออกมาเป็นเช่นนี้ การบำบัดบุคคลที่มีภาวะซึมเศร้าควรทำอย่างไร? เมื่อพบว่าภาวะซึมเศร้ามีผลบวกต่อการวิเคราะห์และแก้ปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน การบำบัดควรส่งเสริมให้มีการหมักบ่มปัญหาไปในทางที่ถูกที่ควร รวมถึงเข้าไปช่วยตัดสินใจ หรือชี้แนะแนวทางการแก้ปัญหา มากกว่าให้ยา หรือให้การบำบัดที่ไปยับยั้งภาวะซึมเศร้า

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่า ภาวะซึมเศร้าไม่ใช่อาการผิดปกติของสมอง หรือสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ แต่กลับเป็นกลไกที่ได้ถูกคัดเลือกไว้ให้ทำหน้าที่อย่างเฉพาะเจาะจง


---

แปลและเรียบเรียงจาก Depression's Evolutionary Roots โดย Paul W. Andrews และ J. Anderson Thomson, Jr. จากนิตยสาร Scientific American

เข้าถึงได้จาก: http://www.scientificamerican.com/article.cfm?id=depressions-evolutionary&page=3

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ30 สิงหาคม 2552 เวลา 16:40

    เออ อ่านแล้วรู้สึกดีเหมือนกัน เพราะเรารู้สึกว่าเรามีภาวะที่คนทั่วไปเรียกว่าซึมเศร้ามากกว่าคนปรกติ

    ตอบลบ