ปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย (colony collapse disorder: CCD) คือปรากฏการณ์การหายไปของผึ้งตัวเต็มวัยเกือบทั้งรัง ทิ้งผึ้งราชินีและผึ้งที่ยังไม่โตเต็มวัยที่ต้องการอาหารและการดูแลไว้เพียงลำพัง ความผิดปกตินี้ถูกพบครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. ๒๐๐๖ ในสหรัฐอเมริกา และผึ้งมากกว่า ๒ ใน ๓ ของสหรัฐอเมริกาก็หายไปภายใน ๒ ปี นอกจากนี้ยังพบปรากฏการณ์นี้ในยุโรปตะวันตกและไต้หวันอีกด้วย ผึ้งเป็นผู้ถ่ายละอองเรณู (pollinator) ที่สำคัญซึ่งจะช่วยถ่ายละอองเรณู และทำให้ผลไม้ต่างๆ ติดผล ผึ้งมีส่วนสำคัญในระบบเกษตรกรรมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง ๑๔ พันล้านเหรียญดอลล่าสหรัฐ ล่าสุด นักวิจัยด้านกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยลงในวารสาร “Proceedings of the National Academy of Sciences” (PNAS) ซึ่งเปิดเผยสาเหตุของ CCD จากการศึกษาชีววิทยาระดับโมเลกุลของผึ้ง ผลการศึกษาชี้ชัดว่า ผึ้งที่ตายจาก CCD มีไรโบโซม (ribosome) ที่ผิดปกติไปจากผึ้งปกติ
นักวิจัยได้ใช้เทคนิคไมโครแอเรย์ (microarray) ที่สามารถเปรียบเทียบการแสดงออกของยีนได้คราวละมากๆ เปรียบเทียบการแสดงออกของยีนทั้งจีโนม (genome) ซึ่งสกัดจากเซลล์บริเวณทางเดินอาหารระหว่างผึ้งปกติและผึ้งที่ตายจาก CCD ไม่พบการแสดงออกของยีนที่ตอบสนองต่อยาฆ่าแมลงและยีนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน แต่กลับพบว่า ไรโบโซมของผึ้งที่ตายจาก CCD แตกหักเสียหายมากกว่าผึ้งปกติอย่างมีนัยสำคัญ
ไรโบโซมเป็นสารชีวโมเลกุลที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการสังเคราะห์โปรตีนภายในเซลล์ ผึ้งที่ไรโบโซมเสียหายและใช้งานไม่ได้ จะไม่สามารถสังเคราะห์โปรตีนเพื่อตอบสนองเพื่อต่อต้านยาฆ่าแมลง การติดเชื้อจุลชีพต่างๆ ภาวะขาดอาหาร และความเครียดอื่นๆ จนนำไปสู่การตายในที่สุด
สาเหตุของการแตกหักของไรโบโซมดังกล่าว คือไวรัสที่มีชื่อว่า Picorna-like Virus (ชื่อตั้งมาจากคำว่า “pico-” ซึ่งหมายถึง “เล็กๆ” กับคำว่า RNA ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ได้จากการถอดรหัสสารพันธุกรรม) ซึ่งจะขโมยไรโบโซมและสารชีวโมเลกุลอื่นๆ ของเจ้าบ้าน (host) ไปใช้ในการผลิตโปรตีนสำหรับการจำลองและแพร่กระจายพันธุ์ของตัวเอง และถ้าผึ้งตัวใดติดเชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกัน ไรโบโซมของมันจะทำหน้าที่ไม่ไหว และแตกหักเสียหายในที่สุด
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่สามารถหาสาเหตุของการติดเชื้อไวรัสได้
---
แปลและเรียบเรียงจาก:-
http://www.ens-newswire.com/ens/aug2009/2009-08-25-093.asp
http://news.bbc.co.uk/2/hi/science/nature/8219202.stm