04 พฤศจิกายน, 2563

งานการที่ไม่เท่

“งานการที่ไม่เท่” คำคำนี้วนเวียนอยู่ในหัวมาสักพักแล้ว ตั้งแต่ที่เราได้ยินน้องคนหนึ่งพูดกับเพื่อนคนหนึ่งว่า

“เท่จัง”

นอกจากนี้เรายังได้ยินมันหลายต่อหลายครั้ง ทั้งจากที่เราชื่นชมคนอื่นทั้งต่อหน้าและในใจ และจากที่คนอื่น ๆ พูดถึงกันและกัน

เราไม่เคยคิดแบบนั้นกับงานที่ตัวเองกำลังทำอยู่เลย

หลายปีมานี้ เราได้พาตัวเองมาอยู่ท่ามกลางคนที่ทำงาน “เท่ๆ” มากมาย ตั้งแต่ story curator, product owner, consultant, project manager, influencer, photographer, experience designer, business owner, data scientist, data visualizer, programmer ฯลฯ ยังไม่นับรวมเหล่าผู้คนที่มีทักษะอันเป็นที่ต้องการของศตวรรษที่ 21 ที่เห็นได้จากตำแหน่งงานที่เปิดรับ ทั้งงานได้เงินและงานอาสา

เราไม่รู้สึกว่าความสามารถและทักษะที่เรามี จะมีที่ยืนในสังคม จะถูกมองว่าเป็นงานที่ “เท่” ได้เลย

งานของเราเกิดขึ้นภายในห้องขนาด 2x2 เมตร ในตำแหน่งที่เมื่อไปบอกใคร ก็จะบอกว่า “สอนพิเศษชีววิทยาฟูลไทม์” ซึ่งคงไม่มีใครมาบอกหรอกว่า “เท่จัง” มันคงเป็นอะไรที่ดูตลกและฝืน ๆ น่าดู


รู้แหละ คิดได้แหละว่ามันเป็นความอิจฉา เป็นความต้องการการยอมรับจากโลกภายนอก เป็นกิเลสที่สุมจิตวิญญาณให้ต่ำลงต่ำลง
รู้แหละว่ามันมีหนทาง มันคือการอยู่กับปัจุบันขณะ การรักตัวเองให้เป็น โอบกอด และเลิกโบยตีตัวเอง
รู้แหละว่างานทุกงาน เหมือนกับทุกดวงจิตวิญญาณบนโลก ต่างมี “ความเท่” ในแบบของมัน ในแบบที่ถ้าคนอื่นมองไม่เห็น อย่างน้อยที่สุดเจ้าตัวนั่นแหละที่มองเห็นมัน

แต่ความเข้าใจเหล่านี้ ไม่ได้เข้าไปในหัวใจของเราเท่าไหร่เลย

ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไหร่ และจะมีวันนั้นไหม
วันที่เรายอมรับคุณค่าและแสงสว่างในตัวเอง
ได้อย่างจริงใจ











06 พฤษภาคม, 2555

นานเท่าไร ไม่มีลืม


วันนี้มีมีทติ้งกับเพื่อนที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่ชั้นประถมยันม.ต้น นัดกันที่ร้านเหล้าตามประสา ตอนแรกก็คิดว่าจะไม่ไปหรอก แต่ก็อยากไปเจอเพื่อนๆ และอยากไปเจอคนคนนึงมากเป็นพิเศษ

แล้วก็ได้เจอจริงๆ ด้วย

เธอยังรูปร่างหน้าตาเหมือนเดิม ยังน่ารักเหมือนเดิมตั้งแต่ตอนป.1 จนถึงวันนี้ ยังยิ้มแล้วตาหยีเหมือนแมวเหมือนเดิม เห็นเธอแล้วทำให้ผมตื่นเต้นและอยากมองเธอต่อไปอีกนานๆ เหมือนเดิมไม่เปลี่ยน

แม้การแต่งตัวจะเปลี่ยนไปตามวัย แต่สำหรับผม เธอก็ยังทำให้ผมรักได้เหมือนเดิม

ตอนแรกคิดว่าจะไม่ค่อยได้คุยกันซะแล้ว เพราะเรานั่งกันอยู่คนละมุมโต๊ะ ในร้านเหล้า หน้าเวที ตะโกนกรอกใส่หูกันยังไม่ค่อยจะได้ยินเลย เธอเป็นคนทักผมก่อน ถามผมว่าจะกินเหล้า ผมบอกอยากกินเหล้า แล้วเธอก็ชงเหล้าให้ผม

เป็นเหล้าที่ตั้งใจจิบมากเป็นพิเศษ เป็นเหล้าที่ "หวานขม" ได้สมกับความรู้สึกผมในตอนนั้นจริงๆ

สักพักเธอก็เดินเข้ามาหา มาถ่ายรูปด้วย มาชวนคุยนิดๆ หน่อยๆ ตามที่สถานการณ์และบรรยากาศจะเอื้ออำนวย เธอเอามือแตะบ่าผม (อาจจะเพื่อพยุงตัว?) อยู่หนึ่งถึงสองนาที

อยากเอื้อมมือไปทางด้านหลัง ไปจับมือเธอจัง แต่มันคงไม่ดี "ไม่ ไม่ ไม่ มันไม่ดี" ผมย้ำกับตัวเองอย่างนั้น

จ้องมองเธอเนิ่นนาน พลันนึกย้อนไปเมื่อสิบปีที่แล้ว ห้วงเวลาที่ผมเริ่มไม่มีสมาธิกับการเรียนเพราะเอาแต่นั่งมองเธอจากหลังห้องทุกคาบ ห้วงเวลาที่่รู้สึกโหวงๆ พิกลยามมีรุ่นน้องที่เพิ่งเข้ามาใหม่มาคุยกับเธอ ชวนเธอคุย ชวนเธอเล่นบาส ห้วงเวลาที่ ผม แม้จะรู้ตัวว่าคงไม่มีหวัง แต่ก็ปรึกษาเพื่อนสนิทอยู่นานสองนานว่าจะเอื้อนเอ่ยคำในใจออกไปให้เธอรู้ดีไหม

แล้วก็นึกขำปนสมเพชตัวเองที่แกล้งเธอสารพัด พูดจาไม่ดีกับคนในครอบครัวของเธอ ทำตัวไม่เป็นสุภาพบุรุษเอาเสียเลย หึ ก็คงจะจีบติดอยู่หรอกนะ

น่าแปลก เวลาผ่านไปสิบปี ผมเจอผู้คนใหม่ๆ มากมาย แต่ก็ยังมิวายไม่สามารถทำให้เธอเป็นเพื่อนธรรมดาๆ เหมือนคนอื่นๆ ได้ เธอยังคงเป็นคน "พิเศษ" สำหรับผม ยังอยากคุย อยากถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ อยากรู้เรื่องแฟน อยากรู้ว่าเธอจะกลับบ้านยังไง เพราะบ้านเธอดูจะอยู่คนละทางกับคนอื่นๆ (แน่ล่ะ ผมยังจำวันที่ผมซื้อตุ๊กตาหมีแล้วเอาไปให้เธอถึงบ้านได้)

ยังนึกไปถึงว่า ในวันที่เธอได้สวมชุดเจ้าสาวเดินขึ้นเวทีไปกับคู่ชีวิต ผมจะยิ้มและร่วมแสดงความยินดีไปกับเธอได้อย่างเต็มที่ หรือผมจะยิ้มทั้งน้ำตา ที่ได้เห็นเธอมีความสุข และได้รู้ว่าชาตินี้เราคงไม่ใช่คู่กัน ได้รู้ว่าผมไม่ใช่ชายที่เธอตามหาไปพร้อมๆ กัน

จนบัดนี้ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะเรียกว่า "รัก" ได้หรือเปล่า เพราะล่วงเลยมาจนเบญจเพสแล้ว ผมก็ยังไม่มีแฟน ยังไม่เคยได้สัมผัสประสบการณ์ อารมณ์ ความรู้สึกของ "ความรักหวานซึ้ง" แบบคนที่เป็นแฟนเขามีกัน ความรู้สึกเท่าที่ผมบอกได้อย่างมั่นใจคือ ผมอยากเห็นเธอมีความสุข มากกว่าที่ผมอยากเห็นเพื่อนคนไหนๆ ของผมมีความสุข

น่าแปลก ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้ต้องการจะให้เธอมาเป็นแฟน หรือตอบสนองต่อความรู้สึกที่ผมมีให้เธอ เราเคยคุยกันแล้ว และตกลงที่จะเป็นเพื่อนกัน และผมก็เข้าใจดี แต่ผมเองก็ยังไม่สามารถลบความรู้สึกที่ผมเคยมีให้เธอเมื่อสิบปีที่แล้วได้ นานเท่าไหร่ไม่รู้กว่าผมจะลบเลือนความรู้สึกเหล่านั้นไป ผมรู้แต่ว่าผมดีใจและมีความสุข ที่อย่างน้อยตอนนี้เราก็ได้เป็นเพื่อนกัน อย่างน้อยเราก็ยังเคยรู้จักกัน และอย่างน้อยที่การมีอยู่ของตัวเธอ ทำให้ผมมีคุณค่า มีความหมาย และเคยทำให้ผมรู้ว่าอยากตื่นนอนขึ้นมาในเช้าวันรุ่งขึ้นเพื่ออะไร

16 ธันวาคม, 2552

Reflection of the (Physically) Big Fish

หายไปนานเลยกับไดอารี่ :)
ไม่มีไรมาก ก็แค่ว่าเขียนสะท้อนถึงกิจกรรมที่ได้ไปทำมา แล้วมันโดนดี ก็เลยจะเอามาลงที่นี่ด้วย :)

ก็อปมาจาก Gmail ดื้อๆ เลยละกันเนาะ

เมื่อวานได้ไปร่วมงานภาวนาของพี่ตั้ม "เมล็ดพันธุ์ภาวนา" กับเอกมาครับ ได้ไปเจอพี่โจ (โจน จันได) ตัวจริงเสียงจริงมาด้วย ตอนท้ายพี่ตั้มก็พูดสิ่งที่โดนๆ กับตัวผม และสิ่งที่ผมกำลังเผชิญอยู่ ก็เลยว่าจะเขียนสะท้อนมาแบ่งปันครับ

ก่อนอื่นก็ ที่ไปนี่ก็เพราะอยากไปงานอะไรทำนองนี้ ไม่อยากหลุดออกจากวงโคจรไป (ตอนไปงานรวมพลมหกรรมโค-ตะ-ระกระบวนกร อาใหญ่พูดถึงดาวฤกษ์-ดาวเคราะห์ ผมพลันนึกถึงดาวพลูโต...ผมพอเข้าใจความรู้สึกของดาวพลูโตแล้วล่ะ) ดังนั้นพอเห็นอะไรก็ตามแนวๆ นี้ที่จัดตรงกับวันว่างของผม ก็ไม่รีรอที่จะไปเข้าร่วม สองก็อยากไปเยี่ยมบ้านตีโลปะ บ้านใหม่ของพี่ตั้ม หลังจากที่ได้เห็นแต่ภาพใน Facebook มานาน สามคือไปเยี่ยมพี่ตั้ม สี่คือไปเจอกับพี่โจน จันได ตัวเป็นๆ หลังจากเห็นทางทีวี หรือการให้สัมภาษณ์ทางสื่อต่างๆ รวมถึงอาจารย์ก็เคยพูดถึง พี่โตโต้ก็เคยไปอยู่ที่สวนพันพรรณพักนึง ห้าคือจะได้ไปภาวนา และ...อืม มีอย่างอื่นอีกมั้ยนะ? นึกไม่ค่อยออกแล้ว

รูปแบบของวงเมื่อวาน ก็ไม่เชิง Dialogue มันเป็นเหมือนงานเสวนา ที่มีพี่โจเป็นวิทยากร ผนวกกับการภาวนา ที่มีพี่ตั้มเป็นคนนำซะมากกว่า เพราะอืม...ไม่ได้นั่งเป็นวงกลม (พี่โจกับพี่ตั้มนั่งหันหน้าเข้าหาผู้ฟัง ผู้ฟังหน้าหันหน้าเข้าหาพี่ตั้มกับพี่โจ) รูปแบบก็จะนำด้วยภาวนาตามแบบของพี่ตั้ม (ซึ่งไม่มีรูปแบบ) ตามด้วยการเล่าเรื่องของพี่โจ และการ...ถาม-ตอบ (จริงๆ พี่ตั้มบอกว่าเป็นการแลกเปลี่ยน แต่ผมดูแล้วเป็นการถาม-ตอบ ระหว่างผู้เข้าร่วม กับพี่โจซะมากกว่า) รูปแบบจะเป็นแบบนี้ทั้งเช้าและบ่ายครับ


ช่วงภาวนาก็ อืม ไม่ค่อยนิ่งเท่าไหร่ครับ ฟุ้งไปนู่นมานี่เร็วมากๆ ตามไม่ค่อยทัน แถมง่วงด้วย...สุดท้ายก็เลยนอนซะเลย (เอาหมอนรองก้นนั่นแหละ มาเท้าคางไว้ แล้วนั่งหลับ ผ่านก้นใครมาแล้วมั่งก็ม่ายรุ) นอนตื่นมาก็โอเคย์ครับ ดีขึ้น กลับมาอยู่กับตัวเองได้นานขึ้น...

เสร็จจากภาวนา (หลังจากพี่ตั้มเคาะระฆังใบหย่ายๆ) ก็เข้าสู่ช่วงของพี่โจแระ ช่วงแรกพี่โจเล่าชีวิตตัวเองให้ฟังครับ ก็รู้สึกว่าเป็นชีวิตที่น่าสนใจไม่น้อย ชีวิตช่วงแรกของพี่โจไม่ต่างอะไรจากคนอีสานที่หนีเข้ามาหางานทำในกทม. พี่โจเริ่มตั้งข้อสังเกตหลายๆ ข้อ เปรียบเทียบระหว่างชีวิตตัวเองกับชีวิตของคนสมัยก่อน พี่โจเริ่มรู้สึกว่ามัน "แปลกๆ" มัน "ยากจัง" ผมรู้สึกว่า ปรัชญาชีวิต หรือเป้าหมายชีวิตของพี่โจ คือการกลับไปทำอะไร "ง่ายๆ" แบบธรรมดาๆ ทั่วๆ ไป พี่โจเริ่มกลับไปทำการเกษตรแบบไม่พึ่งสารเคมี (จริงๆ แล้วช่วงนี้พี่โจก็เล่าเรื่องให้ฟังถึงความสัมพันธ์ระหว่าง "ทุนนิยม" กับ "ความมั่นคงทางอาหาร" (พี่โจไม่ได้ใช้คำนี้ แต่ผมขอใช้คำนี้ ผมชอบคำว่า Food Security) ให้ฟังมากมาย) เริ่มสร้างบ้านดิน พี่โจรู้สึกว่า แม้แต่บ้านดินก็ยังสร้างง่าย พี่โจมีบ้านเป็นของตัวเองภายในเวลา ๓ เดือน จากนั้นมาก็เลยสร้างทุกปี ปีละหลัง พี่โจรู้สึกว่า อยู่แบบนี้ มันก็อยู่ได้ ปลูกผักปลูกข้าวเลี้ยงปลาเลี้ยงไก่ เก็บไว้กินเอง เหลือก็ขาย (ออกแนวเศรษฐกิจพอเพียง แต่ผมคงไม่พูดคำนี้ออกมาบ่อยๆ 555+)
จากนั้นก็มีคนถามนู่นถามนี่ คำถามกว่าครึ่งเป็นเรื่องของ "วิธีการ" ส่วนคำถามก็น่าสนใจอย่าง "การเผชิญหน้ากับเรื่องราวซ้ำๆ เดิมๆ" ซึ่งนำให้พี่โจได้เล่าโจทย์ชีวิตเท่าที่เคยผ่านมาให้ฟัง
พี่โจเล่าถึงเรื่องที่พี่โจกลัวผี แรกๆ ก็กลัว กลัวจนนอนไม่หลับ แต่พี่โจ "เผชิญหน้า" กับมัน โดยการ...ไปอยู่ในป่าช้า นอนปิดไฟคนเดียว ฯลฯ ซึ่ง...สุดท้ายแล้วพี่โจก็ไม่เจอผี พี่โจก็เลยไม่กลัวผีอีกเลย เรื่องราวฟังดูง่าย แต่ผมก็รู้สึกว่า มันเคยเป็นโจทย์ที่ใหญ่มากๆ ของพี่โจ และไม่ได้ใช้เวลาสั้นๆ ในการ Deal กับมัน...ได้ฟังเรื่องพี่โจแล้วก็นึกถึงตัวเองขึ้นมาว่า โจทย์ที่ผมกำลัง Deal กับมัน หรือสิ่งที่มาทำให้ผมสูญเสียพลังงานไปบ่อยๆ ก็...คงไม่ได้ใช้เวลาสั้นๆ ในการเข้าไปจัดการ...

นอกเหนือจากนั้น พี่โจก็พูดถึงสิ่งที่น่าจะหาอ่านได้ในหนังสือ โดยเฉพาะ My Ishmael (เอกกำลังแปลเล่มนี้อยู่ ตอนนี้ครึ่งเล่มแล้วครับ!!) และ...(ผมเดาว่า) ปล้นผลิตผล ของจันทนา ศิวะ ก็น่าจะพูดในประเด็นคล้ายๆ กัน พอผมฟังพี่โจมาถึงช่วงนี้ ก็นึกย้อนไปถึง IA2B08 ว่า...เออแฮะ น่าไปเรียนรู้กับพี่โจจัง และน่าจะได้ไปบุรีรัมย์กันด้วย จะได้ไปเห็นกับตัว ทำกับมือว่า การเกษตรโดยไม่พึ่งสารเคมี และการอยู่โดยไม่พึ่งทุนนิยมนั้นมันเป็นอย่างไร

ส่วนพี่ตั้มก็แนะนำเกี่ยวกับการภาวนา โดยส่วนตัวก็ทำให้ผมเข้าใจ "แนว" ของพี่ตั้มมากขึ้น พี่ตั้มก็จะไม่แยกการภาวนาออกจากการใช้ชีวิต นักภาวนาบางคน (แอบ) มีเป้าหมายเพื่อความสงบ เพื่อนิพพาน เพื่อหลีกหนีทุกข์ แต่พี่ตั้มภาวนาเพื่อเรียนรู้สภาวะใดๆ อย่างเท่าทัน
ทำให้ผม "อ๋ออออออออออออว์" และเข้าใจที่มาที่ไปของกิจกรรมที่จัดโดยพี่ตั้มมากขึ้น คือ สืบเนื่องจากแนวคิดของพี่ตั้มเกี่ยวกับการภาวนาที่ไม่แยกออกจากชีวิต พี่ตั้มก็เลยจัดกิจกรรมที่ผนวกเอาการภาวนาเข้ากับสิ่งต่างๆ ที่ (ดูเหมือน) เข้ากันไม่ค่อยได้
เช่นในงานก่อนหน้า การภาวนากับการจัดการความรุนแรง
งานนี้ก็จะเป็นการภาวนากับเรื่องราวของความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และแสดงให้เห็นถึงหนทางและเป้าหมาย (ซึ่งคือสิ่งเดียวกัน) ร่วมระหว่าง Keywords ต่างๆ ข้างต้น

สุดท้าย พี่ตั้มก็อธิบายว่าทำไมต้อง "ปลากระโดด" (ลองไปชม "ปลากระโดด" ได้ที่ http://www.tilopahouse.com/)
ปลาที่ว่ายในสายน้ำก็เหมือนพวกเราที่ใช้ชีวิตอยู่ในกระแส
การว่ายทวนน้ำ การทำตัวสวนกระแส ก็ต้องเหนื่อยเป็นธรรมดา
ถ้าไม่อยากทำตามกระแส แต่เหนื่อยกับการว่ายสวนกระแส...ก็ว่ายตามน้ำไปแหละ แล้วกระโดดขึ้นมาโลดแล่นเหนือกระแสบ้างอะไรบ้าง ตามแต่เหตุปัจจัยจะเอื้ออำนวย

พี่ตั้มอาจจะพูดอะไรอีกเยอะแยะ เกี่ยวกับปลากระโดด แต่ผมจับใจความได้เท่านี้แหละ ๕๕๕+

ผมล่ะโคตรโดนกับสิ่งที่พี่ตั้มพูดเลยอะ...
ผมรู้สึกไม่โอเคย์กับลำน้ำที่ผมตัดสินใจเลือกไปแหวกว่ายเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เพราะได้เห็นว่า มันมีสายน้ำสายอื่น มีอย่างอื่นที่น่าสนใจให้ทำมากกว่ามานั่งเรียนเยอะแยะ แล้วยิ่งได้เห็นเพื่อนๆ พี่ๆ ครูบาอาจารย์ได้ว่ายวนอยู่ในสายน้ำเดียวกัน สายน้ำที่ได้ไหลไปสู่ผู้คนมากมาย สายน้ำที่เอื้อต่อการตื่นรู้ทั้งตนเองและผู้อื่น สายน้ำที่ได้พาให้ทุกคน ได้ใช้ชีวิต ใช้เวลาในการทำประโยชน์ให้แก่ทั้งตนเองและผู้อื่นร่วมกัน...ผมรู้สึก...อิจฉา และน้อยใจตัวเองอยู่บ่อยๆ (ความรู้สึกแง่บวกอย่าง "ชื่นชมยินดี" ก็มีนะครับ แต่ก็ปนเปไปกับความรู้สึกอื่นๆ เยอะแยะไปหใด) ที่ต้องมานั่งแหงกอยู่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมแคบๆ เมื่อได้รู้ว่า นุ้กกับเพ็ญกำลังไปทำอะไรดีๆ ร่วมกันกับกลุ่มจิตตปัญญาวิถีอยู่ที่ไหนสักแห่ง กำลังเข้าเวิร์กช็อปศิลปะกับพี่ผึ้ง&พี่จิ๋มที่เชียงราย ได้ถูกอาจารย์เอเชียชวนไปคุยที่นู่นที่นี่ กับคนนั้นคนนี้ ได้มาเจอกัน คุยกันบ่อยๆ ได้... ได้... ได้...ฯลฯ
หลายๆ ครั้งเพ็ญกับนุ้กเล่าประสบการณ์ในเวิร์กช็อปให้ฟัง เล่าให้ฟังว่าได้คุยอะไรกับอาจารย์บ้าง ได้รับ Assignment อะไรจากอาจารย์ หรือบางครั้งผมก็ไปสู่รู้เข้าว่าอาจารย์กำลังจะชวนนุ้กกับเพ็ญไปไหนต่อไหนอีก ผมรู้สึกว่า ผมช่างไม่คู่ควรกับสถานการณ์ ณ ตรงนั้นเลย พับผ่าสิ! แต่หลายๆ ครั้งมันก็อยู่ต่อหน้าเพ็ญ อยู่ต่อหน้านุ้ก ก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการ "ยิ้มสู้" กับความรู้สึกขุ่นๆ เน่าๆ ข้างใน...

พอได้ฟังเรื่อง "ปลากระโดด" จากพี่ตั้ม ก็เหมือนได้ "แว่นตา" อันใหม่ใช้สำหรับมองโลกที่ผมเผชิญอยู่...
เนาะ...การอยู่ในสายน้ำเชี่ยวกราด การจะว่ายทวน หรือไม่ว่าย มันยากโคตรเลย...เอาเป็นว่า ก็มองหาโอกาสและความเป็นไปได้เท่าที่มี กระโดดขึ้นมาลอยอยู่เหนือน้ำบ้างก็ได้ ถ้าวันเวลาของเวิร์กช็อปหรือกิจกรรมไหนที่ตรงกับวันว่าง ก็ค่อยไปเข้าร่วม เวิร์กช็อปไหนที่ถูกชวนให้ไปช่วย และตรงกับวันว่าง ก็ไปช่วย ... ส่วนช่วงเวลาที่ต้องเรียน ต้องเตรียมตัวสอบ ต้องทำรายงาน ต้องอ่านเปเปอร์ ต้องทำแล็บ ... ก็อยู่กับมัน ทำมันให้ดีที่สุด "ทำสิ่งตรงหน้าให้ดีที่สุด" ... ใช่ ... ก็ "ตั้งใจเรียน" ตามที่นุ้กได้ให้ "ของขวัญ" เอาไว้ในปาร์ตี้วันเกิดของผม


สุดท้ายนี้
อยากบอกนุ้กกับเพ็ญว่า ขอบคุณเหลือเกิน ขอบคุณมากมายสำหรับการดูแล ขอบคุณนุ้กสำหรับการ Reply กลับผ่าน Twitter ขอบคุณที่ชวนไปเวิร์กช็อปต่างๆ ขอบคุณเพ็ญสำหรับการ "อยู่" เพื่อให้เราได้รู้ว่าจะมีคนคอยรับสายเราเสมอๆ เวลาเราอยากระบายให้ใครสักคนฟัง ขอบคุณเพ็ญที่ "ฟัง" เราตลอดมา
ที่ผ่านมาเราไม่กล้าเล่าให้ฟังว่าเรารู้สึกอย่างไร ไม่กล้าบอกถึงความรู้สึกขุ่นๆ เมื่อเรารับรู้ว่าทั้งนุ้กทั้งเพ็ญได้ไปไหนต่อไหน ได้ไปเจอะเจออะไรมาบ้างโดยไม่มีเรา โดยเราไม่มีโอกาสไปอยู่ตรงนั้น เพราะเรากลัวว่า นุ้กกับเพ็ญจะไม่เล่าให้เราฟังอีก
จากนี้ไปก็..."ขอให้เหมือนเดิม" นะ แบบนี้ดีแล้ว เราชอบมาก มันทำให้เรารู้ว่า เรายังคงมีตัวตนอยู่ในความรู้สึกนึกคิด ยังเป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่นุ้กกับเพ็ญนึกถึงและอยากเล่าเรื่องให้ฟังอยู่เสมอๆ
ขอบคุณที่ไม่ลืม และไม่ทิ้งกัน

Halley

ป.ล.๑ ขอบคุณนุ้กที่ทำให้เราได้เริ่มลงมือเขียน Reflection นี้ จริงๆ ตั้งใจจะเขียนอยู่แล้วล่ะ แต่ได้ Enhancer ชั้นยอดมา ก็ทำให้ตัดสินใจ "ลงมือ" เขียนได้โดยไม่ต้องคิด และมันก็ทำให้เรามั่นใจมากว่าจะมีคนคอยอ่านมัน
ป.ล.๒ เริ่มเขียนวันที่ ๑๑ แต่เขียนไม่เสร็จ มาเขียนต่อเย็นวันนี้ครับ และผมก็ไม่ได้กลับไปแก้สิ่งที่เขียนไปแล้วด้วย อย่าตกใจที่วันที่ที่อ้างอิงถึงจะดูแปลกๆ

===

ครับ...ตามนั้นแหละ :)

02 พฤศจิกายน, 2552

เช้าวันหนึ่งวันนั้นวันหนึ่งวันนั้นแปดนาฬิกา

เราเองก็คิดถึงฮัลเลย์กับนิวเหมือนกัน อยากให้เรียนจบไวๆ จะได้มาโปกฮาด้วยกันอีก

ขออภัยท่านผู้ติดตามที่ขออนุญาตไม่กล่าวถึงที่มาที่ไปของคำพูดข้างต้น

แค่อยากเล่าให้ฟังว่า เมื่อเช้า ตอนที่ได้ยินคำพูดนี้ น้ำตาก็เอ่อขึ้นมาซะงั้น

วันนี้เช้าตั้งแต่เดินเข้ามาคณะก็สังหรณ์แปลกๆ ว่าจะได้เจอ ก็เจอจริงๆ ด้วย

เมื่อเช้ากะจะอ่านเปเปอร์ที่อ.สุมาลีให้อ่านก่อนเรียนให้จบ แต่เราคงไม่เสียเวลา และไม่มีกะจิตกะใจมานั่งอ่านเปเปอร์ ถ้ามีเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนานมานั่งอยู่ตรงหน้า

แม้จะไม่ได้ตั้งใจมาหาเราโดยตรง

ยังไงก็ขอบคุณที่มา Check in ให้ฟัง ขอบคุณที่มาแบ่งปันการเดินทางและ Breakthrough อันแสนจะงดงามและน่าประทับใจ ขอบคุณที่เล่าการตัดสินใจ และ Commitment อันยิ่งใหญ่อีกครั้งของชีวิตให้ได้รับรู้ ขอบคุณที่่ได้เอื้อนเอ่ยประโยคนี้ออกมา

ขอบคุณที่ทำให้วันจันทร์ วันเรียน วันนี้ ไม่แห้งแล้งและไร้ชีวิตชีวาจนเกินไปนัก

อยากบอกผ่านพื้นที่นี้เหมือนกันว่า
เราเองก็คิดถึงเพื่อนมาก
ตอนนี้ และเทอมนี้เรียนเยอะมาก จนไม่รู้ว่าจะได้มีโอกาสไปโปกฮาด้วยกันอีกเมื่อไหร่
สัญญาว่าจะตั้งใจเรียน ตั้งใจทำแล็บ ไม่ให้พลาดเหมือนป.ตรี
สัญญาว่าจะจบเร็วๆ แล้วหาเรื่องไปโปกฮากันอีก

วันนี้ดีใจมากที่ได้เจอ และได้สุนทรียสนทนากันโดยไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลงอารัมภบทมากมาย

จนกว่าจะพบกันอีกครั้ง ดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจให้ดีด้วยล่ะ

Halley
หมู่บ้านหลักสองนิเวศน์

26 ตุลาคม, 2552

Untweetened tweets I

"ช่วงนี้เหมือนใช้ชีวิตอย่างเหงาๆ และไร้คุณค่าไปวันๆ"

"คิดถึงจัง โชคดี+เดินทางปลอดภัยนะ"

16 ตุลาคม, 2552

Plan for 2nd Semester

ในที่สุดก็เลือกได้ซะทีว่าจะเรียนวิชาอะไรบ้างในเทอม ๒ นี้
มาดูกันดีกว่าว่าเทอม ๒ นี้ฮัลเลย์จะเจออะไรบ้าง

(ส่วนข้างล่างนี้เป็นของเทอม 1 เอามาให้ดูเล่นๆ)


อืม ... แลดูไม่เยอะไม่น้อยไปเนอะ (บัณฑิตวิทยาลัยของมหิดลให้ลงได้อย่างต่ำ 9 หน่วย อย่างมาก 15 หน่วย)

ส่วนค่าหน่วยกิต ก็ถูกสำหรับคนไทย แต่ถ้าเป็นชาวต่างชาติ และ/หรือ ได้ทุนการศึกษา ค่าหน่วยกิตจะขึ้นเป็น 9000 ต่อหน่วยทันที - -!

จริงๆ ก็คิดมาได้พักหนึ่งแล้วล่ะว่าจะเรียนวิชาอะไรดี เพิ่งมาสรุปได้เอาวันนี้ เพราะวิชาของอ.เอเชีย (SCBI343 Natural Resource and Environmental Management - NREM) ไม่เปิดแล้ว ก็เลยลง SCID514 Animal Experimentation in Biomedical Research ได้เพิ่มอีก 1 วิชา

และในอนาคต (ในช่วงที่ให้ลงทะเบียนเพิ่มได้) ถ้าตารางของ Immunological Method กับ Animal Cell Culture Technique ออกมาโดยไม่ชนกับใคร ก็คงลงเรียนเพิ่มอีก กลายเป็น 14 หน่วยถ้วน

อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจสงสัยว่าฮัลเลย์เรียนอะไร ทำไมวิชามันไม่ค่อยไปในแนวเดียวกันเท่าไหร่
มีทั้งโมเล็ก อิมมูน นิวโร และไหนจะวิชาแล็บ (วิชาที่มีค่า 1 หน่วยกิตทั้งหลาย) ทั้งหลายนั่นอีก

ก็ขอบอกว่า ฮัลเลย์เรียนหลักสูตรเวชศาสตร์ระดับโมเลกุล (ป.เอก ... แต่เพื่อนม.ปลายบางคนชอบบอกว่า "โทควบเอก" ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่)
ลองไปดู Curriculum ได้ที่ --> http://www.grad.mahidol.ac.th/grad/curriculum/view.php?lang=th&pid=273

จะเห็นว่า ด้วยความที่ชื่อหลักสูตรก็สุดแสนจะแฟนตาซี และมี Spectrum ของงานวิจัย/การเรียนที่โคตรจะกว้าง (แต่คนนอกฟังแล้วชอบคิดไปว่า "ทำยา" ... ก็ทำได้นะ ทำเรื่องการขนส่งยาโดยใช้อนุภาคนาโน หรือดูกลไกการออกฤทธิ์ของยา ดูเรื่องวัคซีน ฯลฯ ก็ทำได้หมดและกว้างมาก ... นี่แค่ "ทำยา" นะ จริงๆ ยังทำอย่างอื่นได้อีกแยะ) และด้วยความที่เป็นโครงการร่วม 5 คณะในมหิดล (บัณฑิตวิทยาัลัย คณะวิทย์ คณะแพทยศาสตร์รามาฯ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และคณะทันตแพทยศาสตร์) ทำให้วิชาบังคับ (ที่ไม่ใช่สัมมนาและวิทยานิพนธ์) เรียนหมดไปตั้งแต่เทอมหนึ่ง (ในขณะที่บางหลักสูตรบังคับให้เรียนไปจนถึงปี 2 นู่นนน) ที่เหลือจึงเป็นหน้าที่ของนักศึกษาที่ต้องไปหาวิชาอะไรก็ได้มาโปะให้ครบ 20 หน่วย โดยต้องเป็นวิชาที่ขึ้นต้นด้วยเลข 6 (ที่ไม่ใช่สัมมนาและวิทยานิพนธ์) อย่างน้อย 2 วิชา (สำหรับตรีต่อเอก)

และเนื่องด้วยหลักสูตรนี้คือเวชศาสตร์ระดับโมเลกุล (Molecular Medicine) ทำให้ต้องมีความรู้ที่ควรรู้ประดับหัวไว้ก่อนจบอย่างน้อย 2 เรื่อง (คิดเอาเองนะ) คือ Molecular Biology and Genetics (พูดรวมเป็น 1 เรื่อง) และ Medical Science/Biology
และด้วยความชอบ ความสนใจส่วนตัวด้าน Neuroscience อยู่แล้ว
เมื่อรวมกับวิชาที่เปิดในเทอม 2 แล้ว

ทำให้ได้ Cocktail ของวิชาเรียนเทอม 2 ออกมาหน้าตาอย่างงี้แล ...

ส่วนในอนาคต (เทอมต่อๆ ไป) ก็ว่าจะตามเก็บความรู้หมอๆ ให้เยอะขึ้น (สังเกตว่าปีการศึกษานี้เน้น Molec/Neuro/Cell ซะเยอะ) ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Microbiology/Infectious disease/Pathology/Metabolic disease/ฯลฯ

อ้อ หลักสูตรนี้จะให้โอกาสไปหมุนๆ ตามแล็บต่างๆ (Rotate lab) ประมาณ 3-4 แล็บ แล็บละประมาณ 1 เดือน เพื่อเก็บประสบการณ์ และเรียนรู้วัฒนธรรมในแล็บนั้นๆ
เท่าที่คิดๆ ไว้ก็เป็นแล็บ Neuro/Immuno/AFM (atomic force microscope) น่าจะประมาณนี้มั้ง
แต่ว่า แล็บ AFM นี่ก็ไม่รู้ว่าอาจารย์ธีราพรจะยังรับเข้าไปทำอยู่รึเปล่า 555+
ตอนป.ตรีทำเค้าไว้แสบนัก - -"
Halley
ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข

ป.ล. จริงๆ ควรจะได้เขียนบล็อกเกี่ยวกับโลกร้อน 1 เรื่องในวันที่ 15 ตุลา แต่ก็ไม่ได้ทำ - -"

25 กันยายน, 2552

บ่ายแห่งการเรียนรู้

มีความรู้พื้นฐานนิดหน่อยสำหรับการอ่านบล็อกนี้ให้รู้เรื่อง และเข้าใจ (แต่จะไม่อ่านก็ได้นะ)



1. ตอนนี้ผมเรียนวิชา SCID518 Generic Skills in Science Research ซึ่งจะมีหัวข้อ Fast Track in Science Databases ให้ได้ลงมือทำกันแบบ Hand-on Workshop แต่ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากร ทำให้ต้องแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเรียนบ่ายนี้ กลุ่มที่สองเรียนพุธบ่ายหน้า

2. พี่ต๋อย เป็นชื่อที่ผมเรียกเจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลและเป็น TA ในรายวิชา SCID5xx ทั้งหลาย

3. พี่สา เป็นชื่อของพี่ที่เรียนป.เอก หลักสูตรพิษวิทยา ที่สนิทกัน



เอาล่ะ จบแล้ว



ต่อไปเป็นการคัดลอกเนื้อหาจากสมุดบันทึกการเดินทางของผมมาใส่ไว้ในนี้ล้วนๆ



---



ตอนนี้นั่งอยู่ในห้อง P114...ในใจกำลังครุกรุ่นไปด้วยความไม่พอใจ...กับการไม่มีที่นั่ง, กับความผิดหวังว่าจะได้นั่งเครื่องคอมพ์ 1 คน/เครื่อง (ก็เพราะจะได้ Tweet, เช็คเมล์. เข้าเว็บบอร์ดไปด้วยระหว่างเรียน...) จากนั้นก็ตามมาด้วยเหตุลและข้อ้อางต่างๆ นาๆ ที่โยนความผิด โยนความรับผิดชอบไปให้สิ่งอื่น เช่น บ่นว่าการจัดการไม่ดี, คนดูแลห่วย, ไม่เอาใจใส่เราเท่าที่ควร...บลาๆๆ จนสุดท้ายก็ต้องออกจากห้องไปเป็นการประชด ประท้วง และดื้อเงียบ ก็เผื่ออะไรๆ จะดีขึ้น...จะได้หาอะไรทำนอกจากมานั่งโกรธอยู่แบบนี้...ก็โอนะ...ได้ไปเจอน้องๆ ได้ไปเอาของให้อ.เอเชีย ก็ทำให้ลืมๆ ไปบ้าง...แต่พี่สาก็โทรเข้ามา ตามกลับไปเข้าเรียน...สุดท้ายก็เข้ามาในห้องอีกครั้ง ตามด้วยการนั่งลงไปกับพื้นอย่างไม่เกรงใจวิทยากรและอ.สรวง ตั้งใจว่าจะไม่เรียน...แต่ก็...

แต่พี่ต๋อยก็เข้ามา...ถามอย่างใจดี ใจเย็น และมีเมตตาว่า "จะเอาเก้าอีกปะ?" มันเหมือนไฟโทสะในใจมันดับลงไปหน่อยนึงน่ะ แล้วพี่ต๋อยก็เข้ามาคุยว่า รอบนี้มีคนจากรอบสองมาเรียนรอบนี้ด้วย...โอ...เราตัดสินคลาสนี้ไปนี่...เราตัดสินไปล่วงหน้าว่าคลาสนี้ไม่ควรมีเพราะ Resource ไม่เพียงพอต่อจำนวนนศ. และบลาๆๆ...ก็เพราะได้พี่ต๋อยแหละที่ทำให้คิดได้ และมองเห็นการตัดสินอันยิ่งใหญ่และใหญ่ยิ่งของเรา มองเห็นความไมรับผิดชอบต่อชีวิตและการเรียนรู้ของตัวเอง (จริงๆ อันนี้ยังไม่ชัดเท่าไหร่...)

ตราบจนชีวิตจะหาไม่ ก็คงต้องเรียนรู้ตัวเองกันต่อไป

Halley
P114
25/09/09, 13.55 น.

20 กันยายน, 2552

ผิดหวังจากความคาดหวัง

ผิดหวังจากความคาดหวัง

เป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้


เป็นความคาดหวังแบบเดิมๆ
เป็นร่องเดิมๆ
เป็นอารมณ์เดิมๆ

แต่ก็ยังไม่ทัน
ยังห้ามไม่ได้
หยุดไม่อยู่
ฉุดไม่อยู่
ยั้งไว้ไม่ไหว

ทุกครั้งที่คาดหวัง
ก็จะมีความเป็นไปได้ที่จะผิดหวัง
(ซึ่งส่วนใหญ่ ก็จะผิดหวัง)

และพอผิดหวัง
ผลที่ตามมาคือ
เจ็บจี๊ดๆ ในใจ
ความทุกข์
และความน้อยเนื้อต่ำใจในตัวเอง

บ้างทัน บ้างไม่ทัน
บ้างเห็น บ้างไม่เห็นความ "อยาก" ออก
บ้างศิโรราบ
และบ้าง...ก็ร่ำไห้

สนุกดีนะชีวิตนี้
ดูใจเราซะสิ เป็นได้ขนาดนี้
ไม่ยอมถอยหรอก เส้นทางนี้
ก้าวเดินไปพร้อมความเจ็บปวดนี่แหละ

เป็นปม เป็นปัญหา เป็นทุกข์ที่ยุ่งเหยิงดี
แต่ทำไงได้ นี่มันตัวเรา ใจเรา ความคิดเรา...ชีวิตเรา

ปฏิเสธมัน? กำจัดมัน?
เดี๋ยวมันก็กลับมา

ก็อยู่กับมันไปน่ะแหละ
เพราะเชื่อเหลือเกินว่า
สักวันนึง...ถ้าไม่ใช่ชาตินี้...ก็คงเป็นชาติหน้า...ไม่ก็ชาติต่อๆ ไป

มันจะคลี่คลาย
ด้วยตัวของมันเอง

05 กันยายน, 2552

เพื่อนเที่ยว

นานมาแล้วผมเคยพูดถึงเพื่อนกินเอาไว้
และรู้สึกดีใจที่มีเพื่อนกินดีๆ อย่างแก้วตา - เธอกินกับผมได้ทุกอย่าง และกินเยอะดี ทำให้ผมไม่นึกเกรงใจเวลาที่ต้องจ่ายตังค์แชร์ค่ากินกับเธอ

คราวนี้ ช่วงครึ่งหลังของชีวิตป.ตรี และจนถึงบัดเดี๋ยวนี้...ผมนึกอยากมีเพื่อนเที่ยวกับเค้าซะแล้วซี

คำว่า "เที่ยว" ในที่นี้ ก็ไม่พ้นเรื่องเที่ยวกลางคืนน่ะแหละ

จริงๆ ก็ไม่ใช่ว่าไม่เคยเที่ยวนะ แต่ก็รู้สึกว่าเที่ยวน้อยไป ทั้งในเชิงคุณภาพ และปริมาณ

โอเค...มันไม่ดีหรอก ผิดศีล และการพาตัวเองไปในสถานที่อโคจรก็คงไม่ใช่เรื่องที่เป็นกุศลซะเท่าไหร่
แต่เรื่องหลายๆ เรื่องมันก็อยู่เหนือเหตุผลและศีลธรรม - ก็ Id มันทำงานข่มทับ Superego นี่นา...

เรื่องของเรื่องที่ทำให้เรื่องนี้มันเป็นประเด็นขึ้นมา คือ คืนหนึ่ง หลังจากกลับจากบ้านอาจารย์เอเชีย ช่วงที่ผมกับนุ้กกำลังเดินบนสะพานลอยรอบอนุสาวรีย์ชัยฯ ก็ผ่านร้าน Saxophone ซึ่งก็เป็นผับดีๆ นี่เองแหละ

นุ้กชวนผมเป็นครั้งที่สอง (ซึ่งไม่แน่ใจว่าเจ้าตัวจำได้รึเปล่าว่านี่คืิอครั้งที่สอง) ว่าให้ลองมานั่งชิลล์ๆ ฟังเพลงแนวแจ๊ส สกา เร็กเก้ที่ผมชอบดูบ้าง...

ก็อืม...ก็เห็นตัวเองชัดขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่ผมยึดถืออยู่เกี่ยวกับเรื่องนี้
ถ้าให้ไปคนเดียวก็คงต้องขอคิดดูก่อนนานๆ เพราะการไปเที่ยวผับ เทค ก็คือการทำสิ่งอกุศลดีๆ นี่เอง
การไปนั่งคนเดียวก็คงท้าทายดีสำหรับผม - ก็ถ้าต้องออกไปเผชิญโลกภายนอกคนเดียว ผมจะเป็นคนละคนกับตอนที่ได้อยู่กับเพื่อนๆ หรือคนที่สนิทๆ โดยสิ้นเชิง จะเป็นคนไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ขี้อาย และไม่กล้าทำอะไรแตกต่างอย่างถึงที่สุด
ถ้าไปคนเดียว...จะทำยังไง สั่งอะไรบ้าง นั่งตรงไหน ถ้าไม่อยากกินเหล้า สั่งเครื่องดื่มอย่างอื่นแทนได้มั้ย ถ้าจะกินเหล้า จะสั่งยังไง มีอะไรบ้าง แล้วจะกินหมดมั้ย มีกับข้าวมั้ย มีอะไรบ้าง...มะเอา ไม่กล้าถาม กลัวโดนดูถูก โดนว่า

ก็ทำให้...ไม่กล้าที่จะไปคนเดียว
แต่ตอนนี้ก็มีความคิดที่จะไปคนเดียวขึ้นมาบ้างแล้วนะ...แต่...

การไปกับเพื่อนก็สนุกกว่าอยู่ดี อย่างน้อยก็ได้มีเพื่อนคุย และได้แสดงออกความเป็น "ฮัลเลย์" มากกว่าที่จะต้องเก็บกดเอาไว้
และที่สำคัญ ผมเองก็ให้ค่า "การไปเที่ยวด้วยกัน" ไว้ค่อนข้างสูง เพราะเห็นแล้วว่า สำหรับกลุ่มคนที่จะไปเที่ยวด้วยกัน ไม่ใช่ชวน "ใครก็ได้" แต่จะชวนกันเฉพาะคนในกลุ่มจริงๆ
นั่นคือ ถ้าผมถูกชวน แปลว่าผมถูกนับรวมไปอยู่ในกลุ่มด้วย - นั่นแหละคือความคาดหวังสูงสุด

นั่นก็ทำให้หลายๆ ครั้งที่รู้ว่าเพื่อนๆ ไปดื่มกินกันโดยไม่ได้ชวน ผมจะมีความรู้สึก "น้อยใจ" ตามมาเสมอ
ไม่ใช่การน้อยใจโดยไปโทษคนอื่น - ก็เหมือนทุกที - คือโทษตัวเอง

เพราะเข้าใจดีว่า แต่ละคนก็มีเหตุผล มีที่มาที่ไปของแต่ละคนจริงๆ

ดังนั้น ประเด็นที่น้อยใจ มันคือการน้อยใจตัวเองว่า ทำตัวไม่ดีพอที่จะเป็นที่ยอมรับของคนอื่น ทำตัวไม่กลมกลืนกับคนอื่นมากพอที่จะเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจ และมากพอที่จะเป็นกลุ่มเดียวกันของใครต่อใคร

แม้จะต้องทำเรื่องที่อกุศลไปบ้าง แต่ก็ยอม ถ้ามันต้องแลกมากับการเป็นที่ยอมรับ

02 กันยายน, 2552

แลลักษณ์ลึงค์: ไยน่าตะลึงนัก?

นักจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการ (evolutionary psychologist) จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กสามารถตอบคำถามได้แล้วว่า “ทำไมรูปร่างลึงค์จึงเป็นอย่างที่เห็น?”

โดยในขั้นแรก นักวิจัยได้ใช้หลักการให้เหตุผลแบบตรรกนิรนัย (logicodeduction) คือศึกษาเปรียบเทียบในเชิงมองย้อนกลับไปหาต้นตอของสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสายวิวัฒนาการ แล้วสรุปออกมาว่าเพราะเหตุใด “สิ่งนั้น” จึงเป็น “เช่นนี้”?

ในที่นี้นักวิจัยได้ศึกษาเรื่องของรูปร่างลึงค์ จึงเปรียบเทียบลักษณะภายนอกของลึงค์ระหว่างมนุษย์กับไพรเมท (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกลิง เอป และมนุษย์ผู้แปล) อื่นๆ พบว่า ลึงค์มนุษย์ที่มีความยาวเฉลี่ย ๕ ๖ นิ้ว เส้นรอบวงเฉลี่ย ๕ นิ้วนั้น แม้แต่กับชิมแปนซีที่เป็นญาติใกล้ชิดกับเรามากที่สุดในเชิงวิวัฒนาการ ก็ยังมีขนาดที่เล็กกว่าของมนุษย์ และยิ่งถ้าเปรียบเทียบโดยคำนวณเรื่องของขนาดลำตัวและน้ำหนักเข้าไปด้วยแล้ว ขนาดลึงค์ของชิมแปนซีก็เล็กกว่าของมนุษย์ครึ่งหนึ่ง

นอกเหนือไปกว่านั้น ลึงค์ของมนุษย์ยังมีลักษณะอีกอย่างที่ญาติใกล้ชิดของเราไม่มี นั่นคือ บริเวณคอลึงค์ ซึ่งเป็นส่วนที่หัว (glans) มาเชื่อมกับลำลึงค์ (shaft) มีลักษณะคล้ายร่มเห็ด และมีเส้นสองสลึง (frenulum) คอยยึดอยู่ บริเวณคอลึงค์นั้นจะมีลักษณะเป็นสันหยักและแผ่กว้างออกไปรอบวง ทำให้บริเวณนี้มีเส้นรอบวงที่ใหญ่กว่าลำลึงค์ ลักษณะพิเศษที่พบได้แต่ในมนุษย์นี้ ทำให้นักจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการกลุ่มนี้เชื่อว่า ลักษณะพิเศษนี้น่าจะมีบทบาทสำคัญในเชิงวิวัฒนาการของมนุษย์

เคยมีการศึกษาก่อนหน้านี้ใช้เทคนิคการฉายภาพสั่นพ้องแม่เหล็ก (magnetic resonance imaging: MRI) ถ่ายภาพลักษณะการวางตัวของลึงค์ในช่องคลอดในขณะที่กำลังสอดใส่ พบว่าลึงค์จะขยายตัวและกินพื้นทั้งหมดของช่องคลอด และในบางท่วงท่า (เช่น ท่ามิชชันนารีผู้แปล) ลึงค์จะสามารถสอดใส่เข้าไปได้ลึกที่สุด จนชนปากมดลูกเลยทีเดียว และยังมีการศึกษาอีกชิ้นเกี่ยวกับการหลั่งน้ำกาม พบว่าผู้ชายจะสามารถขับน้ำกามออกมาได้ไกลถึง ๒ ฟุต ซึ่งต้องใช้แรงขับมหาศาล หากรวมผลการทดลอง ๒ ชิ้นเข้าด้วยกัน จะสรุปได้ผู้ชายถูกออกแบบมาเพื่อการหลั่งน้ำกามในช่องคลอดให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้

และในปีค.ศ. ๒๐๐๔ คณะวิจัยคณะนี้ได้ตั้งสมมติฐานเพิ่มเติมอีกว่า ขนาดและรูปร่างของลึงค์นอกจากจะมีเพื่อการหลั่งน้ำกามอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถชะน้ำกามของผู้ชายคนก่อนหน้าที่หลั่งอยู่ในช่องคลอดไม่ให้ตกค้างอยู่ในช่องคลอดได้อีกด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเป็นพ่อของลูกที่จะเกิดมานั่นเอง

คณะวิจัยได้ทดลองสมมติฐานนี้โดยอาศัยช่องคลอดเทียม น้ำกามเทียม และลึงค์เทียม ๓ อัน ลึงค์ทั้ง ๓ มีความยาวเท่ากัน ต่างกันที่ขนาดของสันหยักรอบคอ โดยมีความยาวเส้นรอบวงที่เกินมาจากลำลึงค์ ๐.๒, ๐.๑๒, และ ๐ นิ้ว (เป็นกลุ่มควบคุม คือไม่มีสันหยักรอบคอ) ตามลำดับ คณะวิจัยได้ใส่น้ำกามเทียมลงไปในช่องคลอดเทียม และใช้ลึงค์เทียมสอดใส่เข้าไป จากนั้นวัดปริมาณของน้ำกามที่เหลือภายในช่องคลอด ผลการทดลองเป็นตามที่คาด คือ ลึงค์เทียมที่มีสันหยักรอบคอสามารถชะล้างน้ำกามที่ตกค้างอยู่ออกมาได้มากกว่าลึงค์เทียมที่ไม่มีสันหยักรอบคออย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น คณะวิจัยได้พิสูจน์ความลึกของการสอดใส่ต่อประสิทธิภาพของการชะน้ำกาม พบว่ายิ่งสอดใส่ลึงค์เทียมเข้าไปมากเท่าไหร่ ยิ่งชะน้ำกามออกมาได้มากเท่านั้น

การวิจัยระยะที่สอง คณะวิจัยได้ใช้แบบสอบถามพฤติกรรมของการมีเพศสัมพันธ์และการสอดใส่ในวัยรุ่นที่เรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย พบว่า วัยรุ่น (ทั้ง ๒ เพศ) ที่มีพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์ต่อคู่ครอง เพศชายจะสอดใส่ลึกกว่า และด้วยจังหวะที่เร็วกว่า และคู่ครองที่ต้องแยกจากกันไปสักพักแล้วมาพบกันใหม่ จะมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรงและเร่าร้อนมากกว่าคู่ครองที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยกันบ่อยๆ ผลของการตอบแบบสอบถามสามารถอุปมาและสรุปได้ว่า ด้วยความกลัวว่าคู่ครองของตนจะไปมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่นในขณะที่ตนไม่ได้อยู่เฝ้า เมื่อกลับมาและมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครอง จึงใช้ลึงค์ในฐานะเครื่องมือชะน้ำกามได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าปรกติ (ไม่ว่าจะด้วยจิตใต้สำนึก หรือจิตเหนือสำนึก)

นอกจากนี้ ผู้ชายทุกคนทราบดีว่าหลังจากหลั่งน้ำกามไปแล้ว กลไกทางสรีรวิทยาจะป้องกันไม่ให้ลึงค์กลับมาแข็งตัวใหม่ และการถึงจุดสุดยอดก็ช่วยทำให้หลับสบาย เหตุผลที่ธรรมชาติสรรค์สร้างผู้ชายให้ออกมาเป็นเช่นนี้ ก็เพียงเพราะไม่ต้องการให้มีเพศสัมพันธ์และเกิดการสอดใส่อีกครั้งโดยเร็ว ซึ่งคือการกวาดเอาน้ำกามของตนออกมานั่นเอง

จะเป็นไปได้ไหมที่ผู้หญิงคนหนึ่งตั้งครรภ์ด้วยอสุจิของผู้ชายที่เธอไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ด้วย? แน่นอนว่าเป็นไปได้ ด้วยสถานการณ์จำลองต่อไปนี้

กล้าไปมีอะไรกับแก้วหลังจากที่เธอเพิ่งไปมีอะไรกับดำ น้ำกามของดำก็จะติดมากับลึงค์ของกล้าที่สอดใส่เข้าไปในช่องคลอดของแก้ว และถ้ากล้ายังไม่ได้ขริบหนังหุ้มปลายออก น้ำกามของดำจะถูกเก็บไว้ภายใต้หนังหุ้มปลาย จากนั้นกล้าก็ไปมีอะไรอีกครั้งกับหญิง ทำให้น้ำกามของดำมีโอกาสส่งผ่านเข้าไปในช่องคลอดของหญิงด้วย...

และแล้วหญิงก็ตั้งท้องด้วยอสุจิของดำ

---

แปลและเรียบเรียงจาก “Secrets of the Phallus: Why Is the Penis Shaped Like That?” นิตยสาร Scientific American เดือนเมษายน ๒๕๕๒

เข้าถึงออนไลน์ได้จาก http://www.scientificamerican.com/article.cfm?id=secrets-of-the-phallus